การจัดสินค้าคงคลังบทเรียนจากMAKROสู่ร้านค้าปลีก

การจัดสินค้าคงคลังบทเรียนจากMAKROสู่ร้านค้าปลีก

โดย ฐานิกาพานิช

ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน  สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน

การจัดสินค้าคงคลัง  เนื่องจากเจ้าของร้านค้าปลีก จำเป็นต้องมีการบริหารสินค้าคงคลังที่ดี เพื่อให้ปริมาณสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และควบคุมเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ ไม่ให้จมไปกับสินค้าที่ซื้อมากักตุนจนมากเกินไป โดยปัจจัยในการควบคุมระดับสินค้าคงคลังประกอบด้วย

1.ความถี่ของการเลือกสินค้าเข้าร้าน ข้อนี้ก็มีปัจจัยที่มีผลต่อความถี่ในการเลือกสินค้าเข้าร้านอยู่หลายประการ
   - เงินทุน ถ้าทุนหนาก็ไม่ต้องซื้อสินค้าเข้าร้านบ่อย แต่ถ้าทุนน้อยก็ต้องทำใจ
   - ผู้ประกอบการแบบ part time คือมีงานประจำ จันทร์-ศุกร์ วันเสาร์-อาทิตย์จึงจะมีเวลาซื้อของเข้าร้าน
   - มีสินค้าใหม่จากบริษัทมาเสนอ
   - ลูกค้าแจ้งความต้องการให้เพิ่มชนิดและจำนวนสินค้า

2.ความพร้อมของเงินทุนหมุนเวียน ที่นำมาใช้ในการลงทุนซื้อสินค้า ตัวนี้สำคัญจริงๆในผู้ประกอบการที่สายป่านยาว มีเงินทุนมากก็สามารถที่จะสต็อกสินค้าไว้มาก ทำให้ลดความเสี่ยงในการขาดแคลนสินค้า แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการโอเว่อร์สต็อก คือของเหลือบานขายไม่ทันได้  แต่ในกรณีที่เงินเย็นมีไม่มากต้องหมุนกันตัวเป็นเกลียว ก็ต้องยอมรับว่า เราต้องเผชิญกับความผันผวนราคาแบบรายวันหรือรายสองวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราต้องซื้อมาขายไป ใกล้หมดก็วิ่งหาใหม่ เรียกว่า วิ่งกันจนหืดขึ้นคอ

3.ปริมาณขายออกของสินค้าแต่ละตัว จะเป็นตัวช่วยระบุปริมาณสินค้าคงคลังที่ต้องการ ของขายดีขายเร็วก็ต้องสต็อกมากเป็นธรรมดา

4.ความผันผวนของราคาสินค้า ซึ่งอาจเกิดขึ้น และทำให้เจ้าของร้านจำเป็นต้องซื้อเพิ่ม หรือลดลงกว่าปกติ

ระบบการควบคุมสินค้าคงคลัง

1.การทำบัญชีมือ และนับจำนวนสินค้าที่เหลือในคลัง และที่ชั้นปกติด้วยบุคคลากร ซึ่งวิธีนี้จะมีข้อดีคือ มีค่าใช้จ่ายขั้นต้นที่ต่ำ เพราะใช้แรงงานคนในการนับจำนวนสินค้าคงคลัง แต่ข้อด้อยคือขาดความแม่นยำของการนับ และใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างมาก

2.ระบบการจัดการแบบอิเล็คโทรนิคส์ (E-POS หรือ Electronic Point-of Sales System) ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถตรวจสอบจำนวนสินค้าคงเหลือ ทั้งในคลัง และบนชั้นปกติผ่านระบบในเครื่อง ประหยัดเวลาในการดำเนินงาน แต่มีการลงทุนขั้นต้นทางด้านระบบที่สูง เห็นเซเว่นเขาใช้ palm หรือคอมมือถือในการเช็คสต็อก และสั่งสินค้า

3.แต่สำหรับผู้เขียนลงโปรแกรมนี้ในสนนราคาประมาณ 7,000 บาท ค่าคอมพิวเตอร์และปริ๊นเตอร์อีก 30,000 บาท อย่างไรก็ตามถ้ามีโปรแกรมแล้วไม่มีคนคีย์ ไม่อัพเดตสต็อก และเจ้าของร้านไม่ตรวจเช็ค ก็เป็นอันว่าโปรแกรมนี้มีประโยชน์ในแง่ใช้คิดเงินเท่านั้นเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบใด ก็จำเป็นต้องมีการจัดการตารางการนับสินค้าคงคลังโดยบุคคลากร เพื่อตรวจสอบให้เกิดความแม่นยำ แต่การจะเลือกใช้ระบบใดควรจะขึ้นอยู่กับยอดขาย, จำนวนลูกค้าที่เข้าร้าน, ขนาดของร้านค้า ตลอดจน จำนวนบุคคลากรที่ดูแลร้าน

การเก็บสินค้าคงคลังที่ถูกต้องควรแยกหมวดหมู่สินค้าอย่างชัดเจน ไม่วางปะปนกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสินค้าหลักคือ สินค้าบริโภค อุปโภค และสินค้าวัตถุมีพิษ อาทิเช่น ยาฆ่าแมลง, น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ เป็นต้น

ในกรณีที่ไม่มีพื้นที่สำหรับจัดเรียงสินค้าคงคลัง สามารถใช้ชั้นวางสินค้าหน้าร้านในการจัดเรียงได้แต่ต้องแกะสินค้าจากหีบห่อให้เรียบร้อย สัดส่วนโดยประมาณระหว่างสินค้าหน้าร้าน และสินค้าคงคลัง คือ 80: 20 อันนี้ผู้เขียนคิดว่าต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามบางครั้งก็มีปัจจัยหรือสถานการณ์ต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถรักษาสต็อกไว้ได้ เช่น ภาวะการขาดแคลนสินค้า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยพิบัติต่างๆ หรือกรณียี่ปั๊วสต็อกของไว้เก็งกำไร สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ร้านค้าปลีกที่เป็นปลายทางอย่างเราขาดแคลนสินค้าได้

นอกเหนือจากนี้ระบบการเติมสินค้าหน้าร้านก็ควรยึดหลัก First-in First-out คือสินค้าที่ซื้อมาก่อนต้องนำมาจำหน่ายก่อน เพื่อป้องกันสินค้าหมดอายุเหลือค้างโดยควรนำหลักการนี้มาใช้ในการจัดเรียงสินค้าหน้าร้าน และการจัดเก็บสินค้าในคลัง

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีประกอบการเขียนบทความนี้ จาก MAKRO

รายการส่งเสริมบทเรียนจากMAKROสู่ร้านค้าปลีก

รายการส่งเสริมการขายบทเรียนจากMAKROสู่ร้านค้าปลีก

โดย ฐานิกาพานิช

ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน


การจัดรายการส่งเสริมการขายถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับร้านค้าปลีก เพื่อหาวิธีจูงใจลูกค้ามาซื้อสินค้าที่ร้านให้ได้มากที่สุด รายการส่งเสริมการขายนั้นสามารถจัดทำได้หลายรูปแบบ และหลายช่วงเวลา แต่ที่สำคัญคือ ควรให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด  ซึ่งนี่แหละคือโจทย์ที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ปวดหัวมากที่สุด เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี 

การจัดรายการส่งเสริมการขายมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1.เพื่อรักษาลูกค้าเก่าที่มีอยู่ ลูกค้าเก่านั้นคือสิ่งมีค่า เป็นดั่งต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องรักษาไว้ให้เหนียวแน่น  อย่างไรก็ตามการสร้างความภักดีต่อร้านค้านั้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอีก เพราะการส่งเสริมการขายนั้นเป็นเพียงส่วนย่อยหนึ่งของการรักษาฐานลูกค้าเท่านั้น  การจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อรักษาลูกค้าเก่ามีรูปแบบดังนี้

   - การสร้างระบบสมาชิก แทบทุกห้างร้านนิยมใช้ ไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่สำหรับร้านค้าปลีกที่เป็นโชห่วยนั้น อาจจะมีไม่มากนัก เพราะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์รองรับ เพื่อสะสมยอดซื้อ เมื่อยอดซื้อสะสมถึงระดับที่ผู้ประกอบการกำหนด และมีการใช้งานสม่ำเสมอ  ก็ให้ของรางวัลเป็นสินค้า เป็นของขวัญ 
  
      ** เป็นเช็คของขวัญ เซ็นทรัลชอบใช้ โดยให้เป็น Givft voichoure เพื่อใช้จ่ายในเซ็นทรัล อันนี้เขาจะให้ปีละครั้ง

      ** เป็นเงินสด แม็คโครชอบใช้  ซื้อ 30,000 คืน 300  ซื้อ 50,000 คืน 500 แต่ต้องนำใบเสร็จมาแลกเดือนต่อเดือนที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส  ซึ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ยุ่งยากและทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าผู้ประกอบการไม่จริงใจที่จะตอบแทนลูกค้าอย่างแท้จริง และในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้รายการส่งเสริมการขายนี้ขาดประสิทธิภาพไปอย่างน่าเสียดาย(อาจจะเป็นความรู้สึกของผู้เขียนคนเดียวก็ได้) อีกประการหนึ่งผู้เขียนเองชอบทำใบเสร็จหาย เลยไม่ค่อยประทับใจรายการส่งเสริมการขายนี้เท่าไหร่ แหะๆ

      ** คูปองส่วนลดแทนเงินสด   บิ๊กซีชอบใช้  อันนี้ผู้เขียนก็ชอบพอควรเพราะเขาจะปริ๊นต์คูปองเงินสดออกมาพร้อมบิลเลย ไม่ต้องไปแลกที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสให้ยุ่งยาก อันนี้แสดงถึงความจริงใจและความรู้จริงของผู้ประกอบการในการที่ต้องการให้รายการส่งเสริมการขายนี้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง   แต่ว่า เราก็ต้องรีบกลับไปบิ๊กซีเพื่อไปใช้คูปองให้ทัน ภายใน 1 เดือน ซึ่งอันนี้ก็ไม่ว่ากัน ถ้าไปไม่ทันก็ต้องทิ้งคูปองนั้นไป

      ** สิทธิแลกซื้อ เซเว่นชอบใช้  ก็เป็นการดึงให้ลูกค้ากลับมาเพื่อใช้สิทธิแลกซื้อจะได้เป็นลูกค้าประจำกันต่อไป

      ** เพิ่มส่วนลดให้จากเดิม 3 % เป็น 5% เป็นต้น

   - การจัดเลี้ยงเพื่อพบปะลูกค้า เป็นการเลี้ยงเพื่อขอบคุณ และแสดงให้เห็นว่าคุณคือลูกค้าคนสำคัญ  นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการจะได้สำรวจความต้องการของลูกค้าโดยใช้การวิจัยโดยแจกแบบสอบถาม เพราะเมื่อมางานเลี้ยงลูกค้าก็จะไม่เร่งรีบเหมือนตอนเข้ามาซื้อของในร้าน ทำให้มีเวลาในการทำแบบสอบถาม

2.เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ให้เข้าร้าน โดยมากการจัดรายการส่งเสริมการขายมักมีเป้าหมายนี้ คือการดึงดูดลูกค้าใหม่ๆเข้าร้าน เพราะผู้ประกอบการเชื่อว่า เมื่อลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย การจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ มีรูปแบบดังนี้
   - การจัดอีเว้นท์ลดแลกแจกแถม (ทุนสูงไปนิดนึง)
   - การแจกโบชัวร์ หรือ ติดป้ายรายการส่งเสริมการขาย ให้เห็นชัดเจน 

3.เพื่อสร้างยอดขาย โดยกระตุ้นให้ยอดการซื้อต่อครั้งเพิ่มขึ้น  นั่นคือต้องมีฐานข้อมูลที่ดีพอเพื่อทำนายว่า ควรจะดึงสินค้าตัวไหนมาจัดรายการ ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นแม่บ้าน อาจจะจัดรายการน้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือ น้ำยาล้างจานโดยลดราคา หรือ ถ้าซื้อเป็นแพ็คจะได้ราคาลดลง หรือจากสินค้าพิเศษช่วงเทศกาล เช่น กระเช้าของขวัญ  สินค้าพิเศษตามฤดูกาลเช่น โลชั่น เป็นต้น

4.เพื่อทำการประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ที่ร้าน โดยมากมักจะแจกโบชัวร์ ลงโฆษณาว่าถ้ามาในวันเปิดร้านจะได้รับของขวัญ ได้บัตรสมาชิกฟรี หรือได้รับจดหมายข่าวรายการส่งเสริมการขายฟรีเป็นต้น


รูปแบบของรายการส่งเสริมการขาย

แม็กโครได้ให้รูปแบบรายการส่งเสริมการขายไว้ดังนี้

•ลด จัดรายการลดสินค้า

•แลก จัดรายการแลกของสมนาคุณ เมื่อซื้อสินค้าตามมูลค่า หรือจำนวณที่กำหนด

•แจก จัดสินค้าชิม หรือแจกสินค้าใหม่ให้นำไปทดลองใช้

•แถม ฟรีของแถมสมนาคุณไปกับตัวสินค้า

ซึ่งผู้เขียนข้อเพิ่มเติมอีกดังนี้

*เลี้ยง การจัดเลี้ยงเปิดตัวสินค้า เลี้ยงขอบคุณลูกค้า

การจัดรายการส่งเสริมการขายข้างต้น ทางแม็กโครเขาให้ข้อคิดว่า เจ้าของร้านต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภท ที่สำคัญคือ การทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน ถูกต้อง มีการติดป้ายราคา หรือป้ายแจ้งรายการส่งเสริมการขายในจุดจัดเรียงสินค้าที่ลงรายการ
 
ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก http://www.siammakro.co.th/mail/food_MRA_know.php

การตกแต่งร้านค้า

การตกแต่งร้านค้า

โดย ฐานิกาพานิช


ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน
การสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า แม็กโครเขาให้ข้อคิดว่า นอกเหนือจากอัธยาศัยใจคอ การบริการที่ดีของเจ้าของร้านแล้ว รูปลักษณ์ทั้งภายใน และภายนอกร้าน ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการเชื้อเชิญทั้งลูกค้าเก่า และลูกค้าใหม่ให้แวะเวียนมาอุดหนุนที่ร้าน ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าของร้านมักจะละเลย และลืมนึกถึงจุดสำคัญนี้ หรืออาจมีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุน การตกแต่งร้านค้านั้นร้านสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยทางแม็กโครเขาแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ คือ

1.การปรับปรุงรูปลักษณ์ร้านทางกายภาพ

◦ความสะอาดของร้านค้า เป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของร้านต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก

◦อุปกรณ์การจัดเรียงสินค้า ต้องมีความเหมาะสมกับขนาดร้าน และรูปแบบของร้านค้า แสงไฟภายในร้านควรมีความสว่างที่พอเพียง เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นสินค้า และป้ายราคาอย่างชัดเจน ง่ายต่อการเลือกซื้อสินค้า ทั้งยังช่วยลดการสูญหายของสินค้าอีกด้วย

◦วัสดุประชาสัมพันธ์ อาทิเช่น แผ่นป้ายลดราคา, สติ๊กเกอร์กล่าวต้อนรับ หรือขอบคุณที่มาอุดหนุน และการตกแต่งร้านตามเทศกาลต่างๆ

◦ความพร้อมของสินค้าภายในร้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลาย และปริมาณสินค้าบนชั้นเรียง
2.การสร้างบรรยากาศ และภาพลักษณ์ร้าน

◦เสียงเพลงภายในร้าน ช่วยสร้างบรรยากาศ และภาพลักษณ์ร้านสำหรับกลุ่มเป้าหมายแต่ละประเภทได้

◦การทักทาย กล่าวต้อนรับ และการพูดจาของเจ้าของร้านกับลูกค้า ล้วนช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับร้านค้า
 
ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก http://www.siammakro.co.th/mail/food_MRA_know.php

แผนผังร้านค้าและการจัดเรียงสินค้า

แผนผังร้านค้าและการจัดเรียงสินค้า

โดย ฐานิกาพานิช


ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน
การวางแผนผังร้านค้าที่ถูกต้อง ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ในการจัดการร้านค้าปลีกให้มีประสิทธิภาพ เพราะการบริหารพื้นที่ภายในร้านที่เหมาะสมนั้น สามารถสร้างความพึงพอใจ และดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาที่ร้าน อีกทั้งยังเป็นปัจจัย ในการพิจารณาปริมาณความหลากหลายของสินค้า และบริการที่จะมีนำเสนอของร้านค้า ซึ่งต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ขายภายในร้าน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1.หน้าร้านและทางเข้าร้าน เป็นจุดสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเนื่องจากเป็นจุดแรก ที่สามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในร้าน การจัดเรียงสินค้าหน้าร้านค้า ทางเข้าร้านค้า ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของลูกค้า ว่าจะเข้ามาภายในร้านค้าหรือไม่

2.พื้นที่ภายในร้าน ซึ่งกล่าวรวมถึง

◦แผนผังการจัดเรียงชั้นวาง ซึ่งควรอยู่ในตำแหน่งโอบล้อมภายในร้าน และมีช่องทางเดินที่พอสมควรให้กับลูกค้า โดยความสูงของชั้นที่ติดผนังควรจะสูงกว่า ชั้นวางสินค้าที่วางอยู่กลางห้อง

◦จุดตั้งวางอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิเช่น ตู้แช่ควรตั้งในจุดที่ลูกค้าสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก หรือเคาเตอร์แคชเชียร์อยู่ในตำแหน่งที่สามารถต้อนรับลูกค้า และดูแลร้านค้าได้ทั่วถึง


3.พื้นที่หลังร้าน ซึ่งมักใช้เป็นที่เก็บสินค้าคงคลัง โดยควรแยกระหว่างสินค้าบริโภค อุปโภค และสินค้าวัตถุมีพิษ สำหรับร้านค้าที่มีขนาดเล็ก และไม่มีพื้นที่เพียงพอก็สามารถใช้ชั้นวางสินค้าหน้าร้านเป็นพื้นที่เก็บสินค้าคงคลังได้ แต่ต้องแกะสินค้าออกจากหีบ/ห่อที่บรรจุ และจัดเรียงให้สวยงามบนชั้นวางสินค้าหน้าร้าน


วัตถุประสงค์ในการจัดเรียงสินค้า

1.เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการเลือกสินค้าของลูกค้า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

2.เพื่อเพิ่มยอดขาย

◦เรียงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกัน ทำให้เกิดการซื้อพ่วง เช่นผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่ม

◦เรียงสินค้าในจุดที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น สินค้าบนเคาเตอร์แคชเชียร์

◦เรียงสินค้าในจุดที่โดดเด่น เพื่อล่อใจให้เกิดการซื้อสินค้า เช่น สินค้าราคาพิเศษบริเวณหน้าร้าน


3.เพื่อป้องกันสินค้าสูญหาย โดยนำสินค้าที่อาจสูญหายง่ายมาเรียงในจุดที่เจ้าของร้านสามารถดูแลง่าย ซึ่งกลุ่มสินค้าสูญหายติดอันดับคือ สินค้าเครื่องสำอาง, สินค้าเครื่องเขียนชิ้นเล็ก, สินค้าลูกอม/หมากฝรั่ง

หลักการจัดเรียงสินค้าพื้นฐาน

1.แยกกลุ่มสินค้าแต่ละประเภท และเรียงสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ใกล้กัน

2.ให้พื้นที่จัดเรียงตามสัดส่วนของยอดขายของสินค้า เพื่อลดปัญหาสินค้าขาด และการไหลเวียนของเงินทุน

3.ให้พื้นที่พิเศษ สำหรับสินค้าที่ทำรายการส่งเสริมการขาย หรือสินค้าใหม่ที่ต้องทำประชาสัมพันธ์ หัวใจสำคัญของการจัดเรียงคือ สินค้าบนชั้นเรียงต้องเต็มอยู่เสมอ อย่าลืมว่าทุกพื้นที่ภายในร้านค้าปลีกเป็นพื้นที่ทองคำ สำหรับเจ้าของร้านค้าปลีก แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเรียบร้อย และสวยงามด้วย
 
ขอบคุณข้อมูลดีดีจากแม็คโคร http://www.siammakro.co.th/mail/food_MRA_know.php

การตั้งราคาและผลกำไร

การตั้งราคาและผลกำไร

โดย ฐานิกาพานิช
ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน

แม็กโครบอกว่า การตั้งราคาสินค้า และผลกำไร มีความสำคัญมากต่อธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน ถือเป็นกลยุทธ์ในการเรียกลูกค้าที่เห็นผลเร็วที่สุด ซึ่งการแข่งขันทางด้านราคาเพียงอย่างเดียว ก็อาจส่งผลทำให้ร้านค้าขายสินค้าได้จำนวนมาก แต่กำไรน้อยลงหรืออาจไม่ได้กำไรเลยก็ได้ ดังนั้นการวางกลยุทธ์ทางด้านราคา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถจัดการผลประกอบการ โดยภาพรวมของร้านได้

วัตถุประสงค์หลักๆ ที่กล่าวคือ

1.เพื่อสร้างยอดขาย อาจมุ่งเน้นการตั้งราคาพิเศษ ในกลุ่มสินค้าติดอันดับ หรือช่วงเปิดร้านใหม่

2.เพื่อสร้างผลกำไร มักใช้กับกลุ่มสินค้าเฉพาะ ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบราคากับสินค้าทั่วไปได้

3.เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และความสามารถในการแข่งขัน โดยมักจะเป็นการตั้งราคาทัดเทียม หรือต่ำกว่าคู่แข่ง โดยจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ที่โดดเด่นทั้งด้านหน้า และภายในร้าน

หลักการพื้นฐานในการตั้งราคาสินค้า สามารถทำได้โดยคำนวณต้นทุนของตัวสินค้า บวก กับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการดำเนินร้านค้า อาทิเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางเพื่อไปซื้อสินค้ามาจำหน่ายที่ร้าน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการบริหารจัดการร้านค้า

ซึ่งส่วนมากมักนิยมคำนวณออกมาในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนกับยอดขายรวมของร้านต่อเดือน แล้วจึงนำมาบวกกับผลกำไรที่ต้องการซึ่งแน่นอนราคาที่ตั้งควรเป็นราคาที่สามารถแข่งขันได้โดยสูตรการคำนวณ ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ

ราคาสินค้า = ต้นทุนตัวสินค้า x (100% +เปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย + เปอร์เซ็นต์กำไรต่อหน่วยที่เหมาะสม)

ตัวอย่างการคำนวณ : ต้นทุนสินค้ามูลค่า 20 บาท, ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5% จากยอดขาย 5,000 บาท/วัน หรือ

150,000 บาท/เดือน คือ 150,000 x 5% = 7,500 บาท, ผลกำไรที่ต้องการ คือ 15% ดังนั้น

ราคาสินค้าคือ 20 x (100% (5+15%)) = 24 บาท


กลยุทธ์ในการตั้งราคา

1.การตั้งราคาปกติ แล้วมีส่วนลดให้ลูกค้าตอนคิดยอดรวม เช่น ทั้งหมด 51 บาท แต่คิดแค่ 50 บาท

2.การตั้งราคาโดยอิงเชิงจิตวิทยา

◦การตั้งราคาสินค้าลงท้ายด้วยเลข 9 เช่น 19, 59, 109....

◦การตั้งราคาสินค้าโดยกำหนดมูลค่าราคาที่ต่ำกว่าราคาร้านคู่แข่งเช่น สินค้าทุกตัวถูกกว่า 1 บาท

3.การตั้งราคแบบผสม

◦ตั้งราคาสินค้าต่ำในหมวดสินค้าจำเป็นที่ลูกค้ามักจดจำราคาได้เพื่อดึงดูดลูกค้าให้สนใจ

◦ตั้งราคาสินค้าตามราคาตลาด สำหรับสินค้าบริโภค อุปโภคทั่วไป เพื่อสร้างภาพราคามาตราฐาน

◦ตั้งราคาสินค้าสูงในระดับที่เหมาะสม สำหรับสินค้าเฉพาะ เพื่อสร้างผลกำไรให้กับเจ้าของร้าน


ขอบคุณข้อมูลดีดีจากแม็คโคร http://www.siammakro.co.th/mail/food_MRA_know.php

ความหลากหลายของสินค้าและบริการค้าปลีก

ความหลากหลายของสินค้าและบริการค้าปลีก

โดย ฐานิกาพานิช
ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน

แม็กโครบอกว่า หลังจากที่เจ้าของร้านค้าปลีก ได้เรียนรู้แนวทางการเลือกทำเลที่ตั้งร้านค้า หรือการเพิ่มความใส่ใจกับปัจจัยต่างๆ ในบริเวณที่ตั้งร้านค้าของท่าน รวมถึงการทำความเข้าใจ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของท่านว่าเป็นใคร ท่านก็จะสามารถเลือกสินค้าและบริการ เพื่อนำเสนอให้สอดคล้อง และตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยมีหลักการพิจารณาดังต่อไปนี้

สินค้าภายในร้าน 4 กลุ่มสินค้าหลัก

แม็กโครแนะนำว่า สินค้าที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการเลือกซื้อสินค้าเพื่อมาจำหน่ายที่ร้านคือ

1.กลุ่มสินค้าพื้นฐาน

■สินค้าบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

■สินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป เช่น ข้าว, ซีอิ๊ว, น้ำปลา, น้ำตาลทราย

■สินค้าอุปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

■สินค้าอุปโภคภายในบ้าน เช่น ผงซักฟอก, น้ำยาล้างจาน, กระดาษชำระ

■สินค้าอุปโภคส่วนบุคคล เช่น สบู่, ยาสระผม, ยาสีฟัน, แปรงสีฟัน

■สินค้าอุปโภคอื่นๆ เช่น เครื่องเขียน, ภาชนะในครัวเรือน

■สินค้าบริโภค/อุปโภค ที่ซื้อเพื่อความพึงพอใจ

■สินค้าบริโภค เช่น บุหรี่, เครื่องดื่มแอลกฮอลล์, ขนมขบเคี้ยว, ลูกอม, ไอศครีม

■สินค้าอุปโภค เช่น โลชั่นบำรุงผิว, ครีมเปลี่ยนสีผม, ของเล่นเด็ก


2.กลุ่มสินค้าใหม่

กล่าวถึงสินค้าใหม่ ที่มีการทำโฆษณาทางทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ทำให้มีลูกค้าถามถึงสินค้าดังกล่าว เจ้าของร้านค้าปลีก ควรพิจารณานำมาจำหน่ายที่ร้าน ในปริมาณที่พอเหมาะก่อน โดยการทำประชาสัมพันธ์ เช่น การติดป้ายแนะนำสินค้าใหม่ พร้อมทั้งติดตามยอดขาย และปริมาณความต้องการของลูกค้า


3.กลุ่มสินค้าเทศกาล

โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ควรนำมาจำหน่ายที่ร้าน ในแต่ละช่วงเทศกาลเช่น กระดาษห่อของขวัญ ในช่วงเทศกาลปีใหม่, ธูปเทียน และเครื่องสังฆทาน ในช่วงวันสำคัญทางศาสนา, น้ำอบและดินสอพอง
ในช่วงวันสงกรานต์


4.กลุ่มสินค้าเฉพาะ/พิเศษ

ของร้านนั้นๆ เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับร้านค้า และร้านคู่แข่ง โดยนำเอาสินค้าเฉพาะ หรือพิเศษมาจำหน่ายที่ร้านเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า อาทิเช่น สินค้าสมุนไพร, ขนมพื้นบ้าน แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงว่าเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าของร้านด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพูดคุยกับลูกค้าก็จะช่วยทำให้เจ้าของร้านได้ข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อสินค้าเข้าร้าน


นอกเหนือจาก 4 กลุ่มสินค้าหลักที่กล่าวแนะนำเบื้องต้นแล้ว ประเภทและการจัดเรียงสินค้าเอง ก็ยังมีความสำคัญต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า อันสามารถจำแนกออกได้เป็นสาเหตุหลัก 4 ประการคือ

1.Needs สินค้าที่ซื้อเพราะความจำเป็นต้องซื้อ เช่น ข้าวสาร, น้ำมันพืช, น้ำปลา, นม, สบู่, ยา เป็นต้น

2.Wants สินค้าที่ซื้อเพราะความอยากได้อยากมี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าบริโภค อุปโภคโดยทั่วไป

3.Impluse สินค้าที่ซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สร้างความเพลิดเพลิน เช่น ลูกอม, ไอศครีม

4.Promotion สินค้าที่ซื้อเพราะถูกล่อใจ ด้วยรายการส่งเสริมการขาย


การนำเสนอบริการเสริม

ในปัจจุบันการนำเสนอเฉพาะสินค้าเพียงอย่างเดียวภายในร้านอาจจะไม่พียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ดังนั้นการเพิ่มบริการเสริม จึงเป็นอีกปัจจัยในการดึงดูดลูกค้าให้มาที่ร้าน และเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งทางด้านตัวสินค้า และบริการที่เป็นที่ต้องการ อันมีหลากหลายประเภท เช่นการให้บริการรับชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, บัตรเครดิต, การรับถ่ายเอกสาร, ส่งแฟ็กซ์,
บริการตู้ซักผ้า/ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ, บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ


ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจากแม็คโคร http://www.siammakro.co.th/mail/food_MRA_know.php

การเลือกทำเลที่ตั้งร้าน

การเลือกทำเลที่ตั้งร้าน

โดย ฐานิกาพานิช
ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน
แม็กโครเขาบอกว่า ทำเลที่ตั้งร้านเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของการประกอบธุรกิจค้าปลีก ซึ่งร้านค้าปลีกที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ก็จะมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญต่างๆ ในการเลือกจุดที่ตั้งร้านค้านั้น ไม่ควรเอาความต้องการของผู้ค้าเป็นที่ตั้ง แต่ต้องเลือกอย่างรอบคอบและรอบรู้ โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้

1.สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม โดยคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

◦ความหนาแน่นของลูกค้า (จำนวนลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมาในบริเวณที่ตั้งของร้าน)

◦สภาพแวดล้อมทางกายภาพโดยรอบ (สถานประกอบการ หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ, สภาพการจราจร)

◦ระดับการแข่งขันในธุรกิจเดียวกัน (จำนวนร้านค้าปลีกที่ตั้งในบริเวณใกล้เคียง)

◦แนวโน้มของภูมิทัศน์ และเศรษฐกิจโดยรอบ (การตัดถนน, การเพิ่มเส้นทางเดินรถ, โครงการสิ่งปลูกสร้างต่างๆ )

2.กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยทำการสังเกตลูกค้าที่เข้าร้าน และที่เดินผ่านไปมาในบริเวณที่ตั้งร้านเพื่อเก็บข้อมูลดังต่อไปนี้

◦ประเภทของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (อาชีพ, เพศ, อายุ, การศึกษา)

◦พฤติกรรม และรูปแบบการจับจ่ายใช้สอย (ความถี่ของการซื้อสินค้า, กลุ่มสินค้า หรือยี่ห้อที่เลือกซื้อ)

◦กำลังการซื้อของลูกค้า (เฉลี่ยมูลค่าการซื้อต่อครั้ง ของแต่ละกลุ่มลูกค้า)
3.ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่ง ควรทำการศึกษาหาข้อมูลของคู่แข่งทางการค้าในประเด็นดังต่อไปนี้

◦ประเภทหรือรูปแบบร้านค้าคู่แข่ง

◦สินค้า และบริการที่นำเสนอ

◦ราคาสินค้าภายในร้าน

◦ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและเจ้าของร้าน

 
ขอขอบคุณข้อมูลจากแม็คโคร http://www.siammakro.co.th/mail/food_MRA_know.php

จัด “ร้าน” ให้ได้ “ล้าน”


พอดีได้เปิดไปเจอ หลักการจัดร้าน ในเว็บไซต์ http://www.tlcthai.com/horo/horo-fortune/285.html เห็นว่าน่าสนใจ และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกเองจะศึกษาไว้ประดับเป็นความรู้ ก็คงไม่เสียหลาย เผื่อจักนำไปปรับใช้ได้ ในการจัดร้านของตนเอง

เว็บนี้เขาบอกว่า จัด “ร้าน” ให้ได้ “ล้าน” เทคนิคจัด ร้าน ให้ได้ ล้าน ไม่ว่าฉบับหมอดูฮวงจุ้ย หรือฉบับมหาวิทยาลัยชื่อดัง แท้จริงเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ การถอดรหัสพฤติกรรมคนซื้อ   ฮวงจุ้ย เรื่องที่ใครๆ บอกว่า ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ “ศาสตร์มืด” กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ กล่าวว่า ถ้าเปิดใจสักนิดจะเห็นชัดๆ ว่า ฮวงจุ้ยเป็นเรื่องของ สถิติ วิจัย การสังเกตพฤติกรรม ทิศทางลม แล้วจัดบ้าน ผังเมือง ให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์

 เชื่อไว้ก็ไม่เสียหลาย เพราะแม้แต่   7 อีเลฟเว่น  ก็ยังมีหลักการจัดร้านอิงกับฮวงจุ้ย  เขาจะเลือกทำเลที่มี “พลังชี่มากๆ” คือ ทำเลที่มีผู้คนสัญจรไปมามากมาย ทุกที่ที่มีชุมชน มีผู้คน มีกำลังจับจ่ายใช้สอย ที่นั่นจึงต้องมี 7 อีเลฟเว่น ไปดักกระแสเงินสด

 BizWeek เวอร์ชันออนไลน์ ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับฮวงจุ้ยการจัดร้านที่เก็บตกจากงานสัมมนา “ฮวงจุ้ย เติมเต็มพลัง SMEs” จัดโดยชมรมเครือข่ายธุรกิจ K SMEs Care สำหรับเป็น “คู่มือ” จัดร้านดักเงินลูกค้า
ดังนี้  อ.วิศิษฐ์ เตชะเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ย และสถาปัตย์ระดับแนวหน้าของวงการ บอกว่า การจัดตำแหน่งร้านค้าวางตามตำแหน่ง ขุนเขา แห่งความสำเร็จ ตามแนวดวงดาว นั่นคือ เต่าดำ มังกรเขียว เสือขาว และหงส์แดง   ไม่เกี่ยวกับตุ๊กตาที่ขายตามร้านเครื่องรางของขลัง หรือที่บรรดาซินแส นักดูฮวงจุ้ยพยายามขายให้ร้านค้า เพราะนี่เป็นตำแหน่งทางดวงดาวที่มีทุกร้าน

ตำแหน่งดวงดาวทั้ง 4 ที่วางทอดไปตามร้านค้า เมื่อยืนในร้าน (หันหน้าออกหน้าร้าน) ตำแหน่งซ้ายมือคือ หัวมังกร ลำตัวมังกร และหางมังกร ส่วนด้านขวามือหน้าร้านคือ หัวเสือ ลำตัวเสือ และหางเสือตามลำดับ

ด้านในสุดหลังร้านคือตำแหน่ง เต่าดำ และ ด้านนอกสุด เรียกว่า หงส์แดง

ตำแหน่งดวงดาวที่ว่า เกี่ยวพันกับเรื่องการวางสินค้าอย่างมาก ซึ่งอ.วิศิษฐ์ บอกว่า ตรงกันกับผลวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ถอดรหัสพฤติกรรมลูกค้า

ซึ่งตำแหน่งหัวมังกร ตามตำราฮวงจุ้ยจีน ว่าไว้ว่า เป็นตำแหน่ง ขายดีที่สุด หัวมังกร รองลงมา หงส์แดง กลางลำตัวมังกร ถัดมาเป็นหัวเสือ กลางลำตัวเสือ

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็บอกว่า ตำแหน่งที่ลูกค้าเดินเข้าร้านแล้วเลี้ยวขวา ตำแหน่งนี้ยอดขายสูงสุด 20% ของร้านค้า เดินลึกเข้าไปทางขวามืออีกนิด ขายดีรองลงมาโดยทำยอดขายได้ 15% ของร้านค้า

ฉะนั้นสินค้าที่ต้องการเพิ่มยอดขาย หรือสินค้าออกใหม่ที่จะโปรโมท ตำแหน่งหัวมังกร หรือ ด้านขวามือเมื่อลูกค้าเดินเข้าร้านดีที่สุด

นอกจากนี้ลูกค้าที่เดินเลี้ยวขวามีโอกาสที่จะซื้อสูงกว่าลูกค้าที่เดินเลี้ยวซ้าย การจัดวางผังร้านจึงพยายามวางให้ลูกค้าเดินเวียนขวาให้ได้

แต่มีลูกค้าบางประเภทจัดอยู่ในหมวด ผู้สังเกตการณ์ คือ ขอดูก่อน ลูกค้าประเภทนี้ไม่ชอบให้คนขายมาจู้จี้ ฉะนั้นผังร้านที่ดีต้องจัดวางตู้บังคับให้ลูกค้าเดินเลี้ยวขวา

เพื่อให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมความคิด เพราะคนส่วนใหญ่ ด้านขวาก็คือความมั่นใจ

นอกจากนี้ต้องให้ลูกค้าอยู่ภายในร้านให้นานที่สุด เพราะยิ่งนาน ยิ่ง ดูด เงินในกระเป๋าลูกค้าได้มากเท่านั้น

อ.วิศิษฐ์ บอกว่า ต้องล่อใจลูกค้าด้วยสัมผัสทั้ง 5 บรรยากาศร้านต้องสว่าง แต่อย่าให้แสงเท่ากันหมดทั้งร้าน เหมือนคนหน้าแบน ไม่มีสิ่งดึงดูดใจ

เทคนิคที่สถาปนิกฮวงจุ้ยคนนี้ แนะนำ คือ จัดแสงให้มีมิติ เปิดเพลงคลอเบา สร้างบรรยากาศให้ลูกค้าสบายใจที่จะเดินชม เดินช้อป ไปเรื่อย


เรียงสินค้าเด่น สินค้ารอง

สำหรับการจัดเรียงสินค้าที่ต้องการขาย ต้องรู้จักจัดเรียงสินค้าเด่น สินค้ารอง เพราะ ตัวเปรียบ ทำให้สินค้าที่จะดัน เกิด หรือขายดีขึ้น

ต้องมีสินค้าที่คุณภาพใกล้เคียงกันแต่ราคาแพงไร้เหตุผลมาวางคู่กัน และต้องมีสินค้าคุณภาพห่วยมาประกบ จะทำให้สินค้าของเราขายดีขึ้นกว่าวางไว้โดด

งานวิจัยยังบอกอีกว่า 1 ใน 6 วินาที คนเราจะเก็บข้อมูลสินค้าได้ 7 อย่าง ดังนั้นการโชว์สินค้าต้องวางให้เป็นแผงอย่างน้อย 7 ชิ้นที่เหมือนกัน เพราะถ้าวางอย่างละชิ้น สมองก็จะไม่บันทึก โอกาสที่จะขายได้ก็น้อยตาม

รวมทั้งการวางสินค้าต้องวางในระดับ สายตา ของคนชอปปิ้ง

อ.วิศิษฐ์ บอกว่า มาตรฐานความสูงแม่บ้านไทยประมาณ 150 ซม. แต่ระดับสายตานักชอปจะก้มประมาณ 10 องศา หรือเท่ากับระดับ 120 ซม. จากพื้น นี่คือ ระดับสายตานักช้อป ที่จะมองเห็นตลอดแนวทางเดิน

เคล็ดลับยังไม่หมดเท่านี้ อ.วิศิษฐ์ มีเทคนิคให้อีกว่า ความกว้างของทางเดินก็มีผลทำให้ลูกค้ามองเห็นสินค้า ถ้าทางเดินแคบ มุมมองจะแคบโอกาสขายได้น้อยกว่าทางเดินที่กว้างอีกสักหน่อย

สำหรับสินค้าที่วางในเชลฟ์แล้วตาย เช่น ยาอม หมากฝรั่ง ถ่านไฟฉาย อ.วิศิษฐ์ แนะว่า ควรวางไว้ที่หน้าเคาน์เตอร์เก็บเงิน เพราะระหว่างรอจ่ายสตางค์นานๆ ลูกค้าเบื่อๆ เซ็งๆ ก็หยิบติดไม้ติดมือไปเป็นของแถม ได้เงินเข้าร้านเพิ่มอีก

เทคนิคจัด ร้าน ให้ได้ ล้าน ไม่ว่าฉบับหมอดูฮวงจุ้ย หรือฉบับมหาวิทยาลัยชื่อดัง ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ การถอดรหัสพฤติกรรมคนซื้อ

แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า ฮวงจุ้ย คือ คุณธรรม มโนธรรม จริยธรรม ของคนขายที่มีต่อคนซื้อ ที่จะกุมหัวใจลูกค้าไปตลอด

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก http://www.tlcthai.com/horo/horo-fortune/285.html