การจัดสินค้าคงคลังบทเรียนจากMAKROสู่ร้านค้าปลีก

การจัดสินค้าคงคลังบทเรียนจากMAKROสู่ร้านค้าปลีก

โดย ฐานิกาพานิช

ผู้เขียนเองเป็นผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการเปิดร้านค้าปลีก จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ทางด้านการค้าปลีกด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆอยู่เสมอ และเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็อดที่จะถ่ายทอดต่อไปให้กับคนอื่นๆที่อาจจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเดียวกัน  สำหรับบทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ MAKRO และพบว่าเป็นสิ่งดีๆที่ขออนุญาตนำมาแบ่งปัน

การจัดสินค้าคงคลัง  เนื่องจากเจ้าของร้านค้าปลีก จำเป็นต้องมีการบริหารสินค้าคงคลังที่ดี เพื่อให้ปริมาณสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และควบคุมเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ ไม่ให้จมไปกับสินค้าที่ซื้อมากักตุนจนมากเกินไป โดยปัจจัยในการควบคุมระดับสินค้าคงคลังประกอบด้วย

1.ความถี่ของการเลือกสินค้าเข้าร้าน ข้อนี้ก็มีปัจจัยที่มีผลต่อความถี่ในการเลือกสินค้าเข้าร้านอยู่หลายประการ
   - เงินทุน ถ้าทุนหนาก็ไม่ต้องซื้อสินค้าเข้าร้านบ่อย แต่ถ้าทุนน้อยก็ต้องทำใจ
   - ผู้ประกอบการแบบ part time คือมีงานประจำ จันทร์-ศุกร์ วันเสาร์-อาทิตย์จึงจะมีเวลาซื้อของเข้าร้าน
   - มีสินค้าใหม่จากบริษัทมาเสนอ
   - ลูกค้าแจ้งความต้องการให้เพิ่มชนิดและจำนวนสินค้า

2.ความพร้อมของเงินทุนหมุนเวียน ที่นำมาใช้ในการลงทุนซื้อสินค้า ตัวนี้สำคัญจริงๆในผู้ประกอบการที่สายป่านยาว มีเงินทุนมากก็สามารถที่จะสต็อกสินค้าไว้มาก ทำให้ลดความเสี่ยงในการขาดแคลนสินค้า แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการโอเว่อร์สต็อก คือของเหลือบานขายไม่ทันได้  แต่ในกรณีที่เงินเย็นมีไม่มากต้องหมุนกันตัวเป็นเกลียว ก็ต้องยอมรับว่า เราต้องเผชิญกับความผันผวนราคาแบบรายวันหรือรายสองวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราต้องซื้อมาขายไป ใกล้หมดก็วิ่งหาใหม่ เรียกว่า วิ่งกันจนหืดขึ้นคอ

3.ปริมาณขายออกของสินค้าแต่ละตัว จะเป็นตัวช่วยระบุปริมาณสินค้าคงคลังที่ต้องการ ของขายดีขายเร็วก็ต้องสต็อกมากเป็นธรรมดา

4.ความผันผวนของราคาสินค้า ซึ่งอาจเกิดขึ้น และทำให้เจ้าของร้านจำเป็นต้องซื้อเพิ่ม หรือลดลงกว่าปกติ

ระบบการควบคุมสินค้าคงคลัง

1.การทำบัญชีมือ และนับจำนวนสินค้าที่เหลือในคลัง และที่ชั้นปกติด้วยบุคคลากร ซึ่งวิธีนี้จะมีข้อดีคือ มีค่าใช้จ่ายขั้นต้นที่ต่ำ เพราะใช้แรงงานคนในการนับจำนวนสินค้าคงคลัง แต่ข้อด้อยคือขาดความแม่นยำของการนับ และใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างมาก

2.ระบบการจัดการแบบอิเล็คโทรนิคส์ (E-POS หรือ Electronic Point-of Sales System) ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถตรวจสอบจำนวนสินค้าคงเหลือ ทั้งในคลัง และบนชั้นปกติผ่านระบบในเครื่อง ประหยัดเวลาในการดำเนินงาน แต่มีการลงทุนขั้นต้นทางด้านระบบที่สูง เห็นเซเว่นเขาใช้ palm หรือคอมมือถือในการเช็คสต็อก และสั่งสินค้า

3.แต่สำหรับผู้เขียนลงโปรแกรมนี้ในสนนราคาประมาณ 7,000 บาท ค่าคอมพิวเตอร์และปริ๊นเตอร์อีก 30,000 บาท อย่างไรก็ตามถ้ามีโปรแกรมแล้วไม่มีคนคีย์ ไม่อัพเดตสต็อก และเจ้าของร้านไม่ตรวจเช็ค ก็เป็นอันว่าโปรแกรมนี้มีประโยชน์ในแง่ใช้คิดเงินเท่านั้นเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบใด ก็จำเป็นต้องมีการจัดการตารางการนับสินค้าคงคลังโดยบุคคลากร เพื่อตรวจสอบให้เกิดความแม่นยำ แต่การจะเลือกใช้ระบบใดควรจะขึ้นอยู่กับยอดขาย, จำนวนลูกค้าที่เข้าร้าน, ขนาดของร้านค้า ตลอดจน จำนวนบุคคลากรที่ดูแลร้าน

การเก็บสินค้าคงคลังที่ถูกต้องควรแยกหมวดหมู่สินค้าอย่างชัดเจน ไม่วางปะปนกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสินค้าหลักคือ สินค้าบริโภค อุปโภค และสินค้าวัตถุมีพิษ อาทิเช่น ยาฆ่าแมลง, น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ เป็นต้น

ในกรณีที่ไม่มีพื้นที่สำหรับจัดเรียงสินค้าคงคลัง สามารถใช้ชั้นวางสินค้าหน้าร้านในการจัดเรียงได้แต่ต้องแกะสินค้าจากหีบห่อให้เรียบร้อย สัดส่วนโดยประมาณระหว่างสินค้าหน้าร้าน และสินค้าคงคลัง คือ 80: 20 อันนี้ผู้เขียนคิดว่าต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามบางครั้งก็มีปัจจัยหรือสถานการณ์ต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถรักษาสต็อกไว้ได้ เช่น ภาวะการขาดแคลนสินค้า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยพิบัติต่างๆ หรือกรณียี่ปั๊วสต็อกของไว้เก็งกำไร สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ร้านค้าปลีกที่เป็นปลายทางอย่างเราขาดแคลนสินค้าได้

นอกเหนือจากนี้ระบบการเติมสินค้าหน้าร้านก็ควรยึดหลัก First-in First-out คือสินค้าที่ซื้อมาก่อนต้องนำมาจำหน่ายก่อน เพื่อป้องกันสินค้าหมดอายุเหลือค้างโดยควรนำหลักการนี้มาใช้ในการจัดเรียงสินค้าหน้าร้าน และการจัดเก็บสินค้าในคลัง

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีประกอบการเขียนบทความนี้ จาก MAKRO

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น