ยุทธวิธีที่แท้จริงของค้าปลีกสมัยใหม่

ยุทธวิธีที่แท้จริงของค้าปลีกสมัยใหม่

การค้าปลีกธุรกิจที่อยู่เพียงแค่ปลายจมูกของเรานี่แหละเผลอหน่อยเดียวจะเป็นของฝรั่งมังฆ้องไปเสียหมดแล้ว ขอยืนยันกันเสียหน่อยว่า ถ้าธุรกิจค้าปลีกวันนี้สู้กันด้วยราคาอย่างเดียวก็ไม่เห็นจะน่ากลัว แต่งานนี้เห็นจะไม่ใช่ ที่เรียกกันว่า Discount Store ผมออกจะถนัดเรียกว่า Hyper-market ค่าที่ว่าการบริหารงานที่ไม่ได้มุ่งการลดต้นทุนการดำเนินการเพื่อให้ได้เปรียบใน แง่ส่วนต่าง แล้วนำเสนอราคาต่ำสุดสนองผู้บริโภค แต่มุ่งจับประเด็นพฤติกรรมผู้บริโภคและจับความพอใจสูงสุดมาเป็นยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งการสร้างระบบการบริการแบบครบวงจร

เมื่อ Tesco เข้ามาบริหาร Lotus และ เมื่อ คาร์ฟู หันมาจับกลยุทธ์ร่วมทาง ตลาดค้าปลีกก็เริ่มร้อน

เพราะทั้งสองยักษ์กำลังตอบสนองผู้บริโภคถูกจุด แนวโน้มการมองการจับจ่ายที่คุ้มเวลา คุ้มมูลค่า ทำให้ผู้บริโภคใหลเข้าสู่รูปแบบร้านค้าแบบกึ่งกลาง ไม่หรูหราแบบห้างสรรพสินค้ายิ่งใหญ่ หรือไม่จับจ่ายยากเข็ญเกินไป เหมือนร้านค้าส่งแบบ Makro หรือการค้าแบบ Wholesale แต่มีครบครันและเน้นความคุ้มค่าด้านราคา

ร้านประเภท Discount Store แบบโลตัสเดิม หรือ คาร์ฟู จึงปรับตัวมาไกลกว่าร้านที่มุ่งลดต้นทุนประกอบการยังดีที่ตอนนี้ Wal-Mart ของ Sam Walton ยังมาไม่ทัน ถ้ายักษ์ระดับโลกเจ้านี้เข้ามาอีกก็คงทั้งร้อนและหนาวปนกัน Wal-Mart ที่ถือกันว่าเป็นสุดยอดของการค้าปลีกระดับโลกที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 1962 หรือ บวกเข้าไปอีก 543 ก็คือ พ.ศ. 2505 ก็มีแนวการบริหารในรูปแบบเดียวกันเน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ

การจับตามองกลยุทธ์ค้าปลีกปัจจุบันทำให้นึกถึง จัสโก้ ที่เริ่มการสร้างรูปแบบพื้นที่ที่มีวงรอบของร้านค้าต่างๆล้อม Super Storeของตนเอง สร้างความแปลกใหม่ในช่วงเวลานั้นและทำให้ธุรกิจขยาย และยืนอยู่ได้ แตกต่างจากห้างสายญี่ปุ่นอื่นที่ถดถอยหายไป

แต่มาวันนี้ ค้าปลีกยุคใหม่นำการบริหารการจัดกลุ่มสินค้าที่มองพฤติกรรมการจับจ่าย Category Management การบริการลูกค้าที่เข้าถึงตัวที่เรียกว่า CRM (Customer Relation Management), การสร้างระบบการบริหารงานข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นจัดการอย่างเป็นระบบสร้างบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นยังเสริมสร้างบรรยากาศ ตกแต่งพื้นที่และธุรกิจให้น่าจับจ่ายมากขึ้น นี่แหละเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า เขาว่าน้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือเข้าไปขวาง คงเป็นแนวทางของค้าปลีกไทยของเราตอนนี้ หลีกเลี่ยงจุดแข็งของเจ้าใหญ่หาจุดยืนของตนเองให้เจอ หันมาปรับแนวทางการบริหารที่เข้าใจลูกค้าหลักของตนเองให้มากขึ้น รู้ความต้องการเข้าใจวิธีการจับจ่ายสิ่งที่คาดหวังของลูกค้า

รวบรวมสร้างเป็นแนวคิดของธุรกิจจริงจัง เตรียมตัวปรับใจ การค้าอาจจะเบาลงในระยะต้น แต่อย่าพึ่งยอมแพ้เสียก่อน จับหลักการนำมาปรับทีละขั้น เริ่มต้นเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เล็กลงแต่ทำให้ดีขึ้น

ดูอย่าง Food Land ที่เน้นกลุ่มสินค้าอาหารสดความสะดวก 24 ช.ม. เน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว ก็สามารถสร้างจุดแข็งของตนเองขึ้นได้เช่นกันจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของลูกค้าคือสิ่งที่ต้องสังเกต และนำมาสร้างแนวทางการปรับตัวของวิธีการให้บริการผูกใจกันไว้ทำให้ลูกค้ารู้จักเราจริงๆว่า เราดีเด่นในด้านใดที่สุดก็จะได้กลุ่มลูกค้ากลุ่มประจำของตัวเอง

ดูเหมือนว่าค้าปลีกสายพันธ์ไทยที่จะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นใหม่จะดูห่างไกล แต่ถ้าเริ่มเสียวันนี้ เชื่อขนมกินได้ร้านค้าปลีกไทยอย่างไรก็อยู่ตลอดรอดฝั่งล่ะครับ


ที่มา http://www.arip.co.th/businessnews.php?id=400113

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น